จากบทความที่แล้ว เราได้ทราบประเภทของไฟล์ดนตรีไปแล้ว
อ้อ ถ้ายังไม่ได้อ่านตอนแรกเข้าไปอ่านตรงนี้ครับ
Audio Essentials สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ในการแปลงไฟล์เพลง (1)
จากประเภทหรือรูปแบบที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนแรก ตอนนี้จะกล่าวถึงสิ่งสำคัญที่ต้องรู้อีก 2 อย่างที่เหลือครับ
2. คุณสมบัติของไฟล์เสียง
เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนหรือช่วงความถี่ใน 1 วินาที มีหน่วยเรียกเป็น “เฮิรตซ์ (hertz ย่อว่า Hz)” เช่นที่ 35 Hz ลำโพงก็จะสั่น 35 ครั้งต่อวินาที หูคนเราจะได้ยินเสียงในช่วงความถี่ตี้งแต่ 20-20,000 Hz คุณสมบัติของไฟล์เสียงที่สำคัญมีอยู่ 2 ตัวดังนี้2.1) Sample Rate
เป็นอัตราความละเอียดของเสียงในการแปลงจากเสียงระบบอนาล็อก ให้กลายเป็นระบบดิจิตอลภายใน 1 วินาที โดยมีหน่วยเป็น Hz (ค่านี้จะแทนแกนนอน มีความหมายว่าใน 1 วินาทีจะมีการเก็บข้อมูลกี่ครั้ง) อย่าง 44,100 Hz ก็คือใน 1 วินาทีจะมีการเก็บข้อมูล 44,100 ครั้งครับซึ่งก็คือคุณภาพเสียงสำหรับซีดีเพลงทั่วไป ยิ่งเลขมาก ข้อมูลที่เก็บได้ก็จะยิ่งละเอียด คุณภาพเสียงยิ่งดีและแน่นอนขนาดไฟล์จะต้องใหญ่ตามไปด้วย (หน่วย KHZ = กิโลเฮิรตซ์ = 1,000 Hz) ดูตารางสรุปข้างล่างSample Rate | รายละเอียด |
8,000–22,250 Hz | ใช้กับงานเว็บไซต์และมัลติมิเดียคอมพิวเตอร์ |
32,000-48,000 Hz | สำหรับกล้องดิจิตอลวิดิโอ ถ้าที่ 48,000 Hz คุณภาพเสียงดีระดับ Hi-End |
44,100 Hz | คุณภาพเสียงระดับซีดีเพลงทั่งไปหรือเสียงอัดจากไมโครโฟน |
2.2) Bit Rate & Bit Depth
Bit Rate เป็นค่าปริมาณข้อมูลที่ใช้สร้างเสียงใน 1 วินาที มีหน่วยเป็น kbps (กิโลบิตต่อวินาที) ค่ายิ่งมากคุณภาพเสียงก็ดีตามไปด้วย อย่างเพลง MP3 ทั่วไปตามท้องตลาดจะมี Bit Rate อยู่ในช่วง 128 kbpsBit Depth เป็นจำนวนข้อมูลที่ใช้ในการแปลงหรือเข้ารหัสเสียง ยิ่งมีค่ามากเท่าไร ก็ย่อมทำให้เกิดความเที่ยงตรงของเสียงมากขึ้นเท่านั้น เสียงที่ได้จะไม่ผิดเพี้ยนและคมชัด
Bit Depth | รายละเอียด |
8 bit | เป็นคุุณภาพเสียงที่ต่ำที่สุด ใช้สำหรับงานอินเตอร์เน็ท |
12 bit | เป็นคุณภาพเสียงสำหรับกล้องดิจิตอลวิดิโอ |
16 bit | เป็นคุณภาพเสียงสำหรับซีดีเพลงทั่วไป |
3. ประเภทของการบีบอัดเสียง
การบีบอัดเสียงมี 2 ประเภทครับ คือแบบ lossless กับ lossy3.1) Lossless
คือการบีบอัดที่ไม่มีการเสียข้อมูลเสียงเลย ต้นฉบับเป็นอย่างไร ไฟล์ที่บีบอัดแล้ว เมื่อคลายออกมาจะเหมือนเดิมเป๊ะๆ แต่ข้อเสียของไฟล์ประเภทนี้คือขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าแบบ lossy พอสมควรรูปแบบไฟล์ที่เป็นแบบ lossless ก็เช่น FLAC, WavPack, AppleLossless, WMA Lossless
ไฟล์เพลง FLAC ความยาว 5 นาที bit rate 900 kbps จะใช้พื้นที่ประมาณ 30-32 mb ในขณะที่ mp3 bit rate 128 kbps ความยาว 5 นาทีเท่ากัน จะมีขนาดแค่ประมาณ 4 mb เท่านั้น
3.2) Lossy
คือการบีบอัดที่ทิ้งข้อมูลออกไปบ้าง เช่นเสียงสูงๆ เหนือกว่า 15000 Hzก็จะถูกตัดทิ้งออกไป ส่วนจะตัดอย่างไรบ้างขึ้นอยู่กับโมเดลเสียงที่มนุษย์รับรู้
(psychoacoustic model) ที่อยู่ในโปรแกรมเข้ารหัสเสียงครับ (Encoder)
แล้วจะตัดเยอะแค่ไหนขึ้นอยู่กับ bit rate ที่ใช้ ยิ่งใช้ค่าสูง ก็จะตัดข้อมูลน้อย
ไฟล์ยิ่งใหญ่ เสียงยิ่งดี
ส่วนรูปแบบไฟล์ที่เป็น Lossy ก็เช่น mp3, mp2, ogg, wma, aac
ข้อควรจำนะครับ ด้วยความที่ lossy มีการตัดข้อมูลออกมาบ้างระหว่างการแปลงไฟล์ เราจึงควรหลีกเลี่ยงการนำไฟล์ lossy มาแปลงไฟล์ซ้ำๆ เช่นเอา mp3 ที่ 128 kbps มาแปลงเป็น ogg ที่ 160 kbps เสียงที่ได้ก็จะแย่กว่า mp3 ด้วยซ้ำ เพราะข้อมูลเรามีอยู่เท่านี้ แต่เราไปแปลงมันอีก ให้มันตัดทอนข้อมูลลงไปอีก
รวมถึงการแปลงจาก lossy ไปยัง lossless ด้วย อย่าง mp3 -> flac ขนาดไฟล์จะใหญ่ขึ้นมาก แต่คุณภาพก็เท่ากับ mp3 นั้นแหละครับ
การเซฟเป็นไฟล์แบบ lossy ซ้ำๆ ก็ทำให้เสียคุณภาพได้ด้วยนะครับ อย่างเราเปิดไฟล์ mp3 ขึ้นมาตัดต่อ แล้วเซฟทับลงไปในไฟล์เดิม ยิ่งเซฟทับบ่อยครั้งเท่าไหร่ คุณภาพไฟล์ก็จะเสียไปเยอะเท่านั้น
สรุปนะครับ ถ้าต้องการเสียงดีๆ หรือเก็บไฟล์ระดับที่เทียบเท่าต้นฉบับ แบบว่าถ้าแผ่นต้นฉบับพังแล้วเอาไฟล์นี้ไปไรท์ใหม่ จะได้คุณภาพเท่าเดิมเลย ให้ใช้ไฟล์แบบ lossless ครับ
แต่ถ้าพื้นที่น้อย แล้วลองฟังดูแล้ว แยกความแตกต่างระหว่างเสียงจาก Lossless และ Lossy ไม่ได้ ก็บีบเป็นพวก Lossy ก็ได้ครับ
ข้อมูลข้างบนผมคัดเรียบเรียงจาก 2 ที่ด้วยกัน อันหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ อีกอันเป็นภาษาไทย ตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ
ถ้าใครต้องการศึกษาอย่างจริงจังและอ่านเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี ผมขอแนะนำที่นี่เลย ละเอียดมาก (มีลิงค์โยงไปมาเยอะแยะ ไม่เข้าใจตรงไหนก็คลิกเข้าไปอ่าน) ถ้าเข้าใจหมดเป็นเซียนจอมเทพแห่งเสียงสวรรค์ได้
Audio file format - Wikipedia, the free encyclopedia
เว็บที่สองเป็นภาษาไทยซึ่งเขียนได้ละเอียดดีมากเหมือนกัน ถ้าอ่านแล้วพยายามทำความเข้าใจตามไปด้วย รับรองว่าการริบออดิโอหรือแปลงไฟล์ได้แบบเซียนตามที่เขาจั่วหัวไว้เลยแหละครับ
สารพันรูปแบบไฟล์เพลง Lossless-Lossy วิเคราะห์ เจาะลึก การริปออดิโอแบบเซียน
ขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น