ผมได้อ่านเจอในหนังสือ “พระธรรมเทศนา หลวงพ่อชา สุภัทโท” ฉบับสัมมาทิฎฐิ ธรรมะที่หยั่งรู้ได้ยาก เกี่ยวกับการฝึกใจ ผมขออนุญาต คัดเรียบเรียง ตัดทอนเฉพาะที่สำคัญ แต่ยังคงเนื้อหาตามคำเทศนาของหลวงปู่ไว้ นำเสนอ ณ ที่นี้ด้วยครับ
แต่ก่อนที่นำเสนอ ผมขออนุญาตอีกครั้งก็แล้วกัน ยกประวัติของหลวงปู่ชา มาให้อ่านกันก่อน เพื่อว่าสำหรับท่านที่ยังไม่ทราบประวัติของท่าน เข้าใจในความยิ่งใหญ่และบารมีของท่าน จะได้อ่านข้อความสั่งสอนของท่านด้วยความไตร่ตรองและพินิจพิเคราะห์
------------------------
พระโพธิญาณเถระ หรือ หลวงปู่ชา สุภัทโท นามเดิม ชา ช่วงโชติ
เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑
ณ บ้านก่อ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ ณ วัดก่อใน ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี อุปสมบทแล้วท่านได้อุทิศตนศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง แล้วจึงจาริกออกปฏิบัติธรรมตามป่าเขาลำเนาไพร จนเมื่อได้เวลาอันสมควร คือ พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงกลับมาก่อตั้งวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสีที่บ้านเกิด โดยมีท่านเองเป็นเจ้าอาวาส พร้อมทั้งได้เริ่มงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา แก่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และได้ก่อตั้งวัดป่านานาชาติเพื่อเป็นวัดนานาชาติสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการบวชในพระพุทธศาสนา นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันวัดหนองป่าพงมีสาขาอยู่ทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก รวมแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐๐สาขา
หลวงปู่ชามรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นับว่าเป็นพระมหาเถระที่มีผลงานทางด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านวิปัสสนาธุระที่โดดเด่นที่สุดรูปหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
--------------------------------
ประวัติของท่าน ผมคัดลอกมาจากเว็บลิงค์ข้างล่างนี้ ขอบพระคุณคณะผู้จัดทำครับ
พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท
------------------------
การตามใจของตัวเองนี่ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชิน มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราว ตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝีก ดังนั้นจงฝึกใจของตนเอง การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนา ก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตฝึกใจของตัว ฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละ เรื่องนี้สำคัญมาก ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิตคือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา
ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้น มันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด เราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนา ด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า “การฝีกใจ”
เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ควรจะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อย ๆ ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า “การพัฒนาจิต”
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก แล้วจะสิ้นสงสัย” คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้น จะต้องมีสติ สำรวมและสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือ เลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อน
ธรรมชาติของใจมันฝึกกันได้ มาฝีกมัน จนมันละเอียด ประณีตขึ้น รู้ขึ้น ว่องไวขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป
เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฎฐิ
---------------------------
ติดตามพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชาเรื่อง “การฝึกใจ” ตอนจบในบทความตอนหน้าครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น